บทที่ 435 กังวลขึ้นทุกวัน!
กฎของเฉินชางชัดเจนมาก!
คิดวิเคราะห์สาเหตุของอาการจากอาการป่วยจากสัญญาณชีพและอาการอื่นๆ ก่อน จากนั้นก็นำประวัติอาการป่วยในปัจจุบันและในอดีตมาวิเคราะห์ร่วมกัน! สุดท้ายก็เริ่มวินิจฉัยและพิสูจน์ความคิดของคุณผ่านผลตรวจต่างๆ
เฉินชางกำลังสอนให้แพทย์ฝึกงานทุกคนใช้ความคิดเชิงตรรกะเพื่อพิจารณาการกู้ชีพและขั้นตอนที่ใช้กู้ชีพของตนซึ่งดูผิวเผินอาจธรรมดา
เฉินชางยิ้ม “นี่คือการคิดแบบงานคลินิก!”
ทุกคนชะงักไปแล้ว
อันที่จริง สิ่งสำคัญที่สุดของผู้เป็นหมอก็คือความคิดเชิงคลินิกที่ทำให้เป็นรูปธรรมได้
ตอนนี้คำพูดของสวีตงตงทำให้ทุกคนสงสัยแล้ว
“ใช่แล้ว! อาจารย์เฉิน ผลเซรุ่มอิเล็กโทรไลต์ยังไม่ออก คุณรู้ได้ยังไงครับว่าเป็นโพแทสเซียมในเลือดสูง! วินิจฉัยจากประสบการณ์หรือครับ”
“จริงด้วย! เมื่อกี้คุณเท่มากเลย วินิจฉัยออกมาได้ยังไงครับ มีเคล็ดลับอะไรหรือ”
……
เฉินชางมองหมอฝึกงานทุกคนแล้วพูดยิ้มๆ ว่า “ต้องมีเคล็ดลับอยู่แล้วครับ!”
ทุกคนได้ยินดังนั้นดวงตาก็เป็นประกายโดยพลัน แต่ละคนรีบหยิบสมุดปากกาออกมา เพราะนี่ถือว่าเป็นความรู้ที่มีแต่เนื้อเน้นๆ ไม่มีน้ำ! ความรู้ที่เผชิญหน้ามาจริงๆ!
เฉินชางเห็นดังนั้นก็มีความสุขมาก
คำพูดนั้นเขาพูดกันยังไงนะ ใช่แล้ว! ความรู้ไม่ใช่ของตัวเอง ตัวเองเป็นเพียงคนที่ใช้ความรู้และส่งต่อความรู้เท่านั้น ถ้ามีคนได้ความรู้เหล่านี้ไปมากขึ้น ก็จะยิ่งช่วยคนได้มากขึ้น
“ความจริง ทุกคนสังเกตหรือเปล่าครับว่าเมื่อกี้ผมทำกราฟหัวใจ”
ทุกคนพยักหน้า “ครับ เห็น แต่ว่า…กราฟหัวใจมีแค่คลื่น เกี่ยวอะไรกับโพแทสเซียมในเลือดล่ะครับ”
ตอนนี้เฉินชางหันไปพูดกับเสี่ยวหลินว่า “เสี่ยวหลิน เมื่อกี้ผมได้กราฟหัวใจเกินมาชุดหนึ่ง คุณช่วยไปหยิบมาให้ผมหน่อยนะครับ”
เมื่อครู่นี้เฉินชางให้ทำกราฟหัวใจเพิ่มขึ้นอีกชุดหนึ่งเพื่อป้องกันไว้ก่อน ตอนนี้ได้นำมาใช้แล้ว
เสี่ยวหลินรีบไปหาและนำมาส่งให้เฉินชาง
เฉินชางรับกราฟหัวใจมาแล้วพูดกับทุกคนว่า “ไม่ว่าจะเป็นการตรวจร่างกายแบบไหนทุกคนก็อย่าได้ดูถูกมันเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นการวัดอุณหภูมิร่างกาย วัดความดันโลหิต ฟังเสียงหัวใจ ทำกราฟหัวใจ หรือเอกซเรย์อะไรต่างๆ …การตรวจพวกนี้ให้เบาะแสกับพวกเรามากเลยนะครับ!”
“ภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูงมีความสัมพันธ์กับผลกราฟหัวใจที่ผิดปกติจนมีการนำไปทำเป็นเคสตัวอย่างเลยนะครับ ผมหวังว่าทุกคนจะจดจำสิ่งที่ผมจะพูดต่อไปให้ดี!”
ทุกคนได้ยินดังนั้นก็รีบจับสมุดกับปากกาแน่น ฟังอย่างตั้งใจ
“เมื่อระดับโพแทสเซียมในเลือดเพิ่มสูงขึ้น จะเกิดปฏิกิริยารีโพราไรเซชัน (repolarization) ที่เซลล์กระทำต่อโพแทสเซียมมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ค่าความชันของคลื่นหัวใจเปลี่ยนแปลง ระยะเวลาของคลื่นสั้นลง ซึ่งหากเป็นโพแทสเซียมในเลือดสูง ผลกราฟหัวใจที่จุดสูงสุดของคลื่น T และจุด QT จะหดสั้นหลง ดังนั้นพอผมเห็นกราฟหัวใจก็ค่อนข้างมั่นใจแล้วว่าผู้ป่วยมีภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูง”
“ทุกคนคงทราบดีว่าผู้ป่วยที่มีภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูงจะมาและไปเร็วมาก”
คำว่า ‘มาและไปเร็วมาก’ ของเฉินชางทำให้ทุกคนหัวเราะ แต่ทุกคนรู้ดีว่ามันเป็นเช่นนั้นจริงๆ ผู้ป่วยที่มีภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูง หัวใจหยุดเต้นได้ตลอดเวลา อันตรายถึงชีวิต!
เฉินชางพูดต่อไป “ส่วนการตรวจเซรุ่มอิเล็กโทรไลต์ก็ถือเป็นมาตรฐานทองคำของการวิเคราะห์โพแทสเซียมในเลือดสูงจริงๆ แต่ถ้ารอให้ผลการตรวจออกมาก่อน ผู้ป่วยก็ต้องรออีกหนึ่งถึงสองชั่วโมง ถึงตอนนั้นคงไม่มีลมหายใจแล้ว ถ้างั้นผมจะต้องการมาตรฐานทองคำนี้ไปทำอะไรอีกล่ะ”
“ดังนั้นในเวลาแบบนี้ ถ้าสงสัยว่าเป็นโพแทสเซียมในเลือดสูงก็ต้องทำกราฟหัวใจ นี่เป็นเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ของงานคลินิก! ยิ่งไปกว่านั้น หากค่าโพแทสเซียมในเลือดเพิ่มสูงขึ้นก็จะมีระดับความเข้มข้นแตกต่างกันไป และแสดงอาการแตกต่างกันไป เริ่มจดกันได้แล้วนะครับ!” เฉินชางเตือน
“เมื่อค่าโพแทสเซียมในเลือดขึ้นไปถึง 6.5 mmol/L จะมีการขยายตัวของ QRS สม่ำเสมอ และเป็นอุปสรรคกับหัวใจช่องล่าง เมื่อค่าโพแทสเซียมในเลือดขึ้นไปถึง 7.0 mmol/L จะทำให้คลื่น P ต่ำลง ระยะเวลาขยายกว้างขึ้น ถ้าโพแทสเซียมในเลือดขึ้นไปถึง 8.5 mmol/L โดยประมาณ คลื่น P จะหายไป เป็นรูปแบบกราฟหัวใจที่เรียกว่า sino-ventricular conduction”
ข้อมูลเหล่านี้มาจากรายงานที่เป็นทางการ และนำไปใช้ได้จริงในงานคลินิก ดังนั้นขณะที่เฉินชางพูดจึงไม่มีความลังเลแม้แต่น้อย เพราะถ้าเป็นประสบการณ์ส่วนตัวของเฉินชางเพียงคนเดียว เขาคงไม่กล้าพูดอย่างมั่นใจขนาดนี้!
ความคิดเห็น
ความคิดเห็นของผู้อ่านเกี่ยวกับนิยาย: เปิดระบบสุดโกงอัปสกิลหมอ