ตอนที่ 378 ทำนองวารี จันทร์แจ่มเมื่อไรมี
แน่นอนว่าหลินเยวียนเข้าใจความตกตะลึงของซาวด์เอนจิเนียร์
ถ้าหลินเยวียนมองจากมุมของชาวบลูสตาร์ เขาเองก็คงตะลึงงันไปเช่นกัน
เป็นความตกตะลึงเช่นเดียวกับที่เขาได้ฟังกลอนสือ[1]นี้เป็นครั้งแรกเมื่ออยู่โลกเดิม และเป็นความยกย่องชื่นชมที่เขามีต่อบทกวี นี่คือกลิ่นอายของผลงานชิ้นเอกซึ่งทำให้ผู้คนมองหน้ากันทันทีที่ได้ยินประโยคแรก
จันทร์แจ่มเมื่อไรมี ชูจอกชี้ถามฟ้าคราม…
ถ้าหากไม่ใช่ปรมาจารย์ซึ่งมีฝีมือในการเขียนเนื้อเพลงระดับสูง มีหรือจะเขียนกลอนสือระดับ ‘ทำนองวารี จันทร์แจ่มเมื่อไรมี’ ได้?
ถูกต้อง!
บทเพลงที่หลินเยวียนเตรียมไว้ในครั้งนี้ ก็คือ ‘ทำนองวารี[2]’ อันเลื่องชื่อ !
ผู้ประพันธ์กลอนสือบทนี้คือ…
ยอดกวีตงพัว ซูซื่อ!!
หากบอกว่าถังปั๋วหู่กลายเป็นยอดอัจฉริยะซึ่งไม่ว่าใครก็ต้องรู้จัก เพราะผ่านการขัดเกลาและแต่งแต้มโดยผู้คนและผลงานภาพยนตร์ละก็ ซูซื่อในฐานะอริยบุคคลซึ่งเป็นตัวแทนของแวดวงวรรณกรรมสมัยซ่งบนโลกเดิมนั้น เชี่ยวชาญกวีนิพนธ์ทั้งกลอนซือ กลอนสือ เพลงลำนำ และการวาดภาพอย่างแท้จริง โดยที่ไม่จำเป็นต้องผ่านการแต่งขัดเกลาและแต่งแต้มแต่อย่างใด!
โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานของเขาอย่างทำนองวารี ก็ยิ่งเป็นที่รู้จัก ได้รับการสืบทอดมาหลายนานหลายร้อยปีจนกลายเป็นกวีนิพนธ์คลาสสิกตลอดกาล!
ผลงานหลายชิ้นของซูซื่อ รวมไปถึงผลงานชิ้นนี้ ถูกส่งผ่านและได้รับการยกย่องจากผู้คนทุกยุคสมัย!
น่าเสียดายที่กวีระดับปรมาจารย์เช่นนี้ ไม่มีตัวตนอยู่บนบลูสตาร์
ทว่าในตอนนี้ หลินเยวียนกลับสามารถทำให้กวีนิพนธ์จากสมัยซ่งกลับมามีชีวิตอีกครั้งในรูปแบบของบทเพลง!
เมื่อเผชิญกับผลงานคลาสสิกเช่นนี้ จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ซาวด์เอ็นจิเนียร์จะรู้สึกว่านี่คือเนื้อเพลงที่สมบูรณ์แบบที่สุดเท่าที่เขาเคยเห็นมาในชีวิต โดยไม่มีแม้แต่คำว่า ‘หนึ่งใน’!
แน่นอน
ในฐานะงานกวีนิพนธ์สมัยซ่ง ทำนองที่แท้จริงของ ‘ทำนองวารี’ เป็นอย่างไรไม่มีผู้ใดล่วงรู้ เวอร์ชันที่หลินเยวียนได้รับมานั้นเป็นผลงานที่คนในยุคหลังแต่งทำนองขึ้นมาใหม่โดยอ้างอิงจากกลอนสือต้นฉบับ
นั่นก็คือเพลง ‘ขอเราคงอยู่ชั่วนิรันดร์’ ซึ่งขับร้องโดยเติ้งลี่จวิน
เพลงนี้อยู่ในอัลบั้มกวีนิพนธ์และบทเพลงของเติ้งลี่จวิน ‘ห้วงความรู้สึก’ ซึ่งวางจำหน่ายในปี 1983
อัลบั้มนี้เป็นผลงานคลาสสิกชิ้นโบแดงในช่วงเวลาสูงสุดของชีวิตในวงการของเติ้งลี่จวิน และเป็นอัลบั้มแรกซึ่งเธอมีส่วนร่วมและวางแผนด้วยตนเอง อัลบั้มนี้ต่างจากอัลบั้มอื่น เพราะทั้ง 12 เพลงนั้นคัดสรรมาจากงานประพันธ์รูปแบบกลอนสือสมัยซ่ง เป็นวรรณกรรมชิ้นเอกซึ่งมีประวัติศาสตร์มานับพันปี และเมื่อกวีนิพนธ์โบราณผสมผสานเข้ากับบทเพลงสมัยใหม่ และผ่านการขับร้องด้วยเสียงอันไพเราะซึ่งเป็นพรสวรรค์ของเติ้งลี่จวิน เกิดเป็นความสง่างาม เคร่งขรึม อ่อนโยนและซับซ้อน ซึ่งเข้ากับสไตล์ของกวีนิพนธ์ถังและซ่งได้อย่างลงตัว
นานวันเข้า วันเวลาไม่อาจปกปิดความเจิดจรัสของเติ้งลี่จวิน แต่วันคืนกลับขับสน่ห์ของเธอให้โดดเด่นขึ้นเรื่อยๆ
และบทเพลงขอเราคงอยู่ชั่วนิรันดร์ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม ในฐานะเพลงไตเติลของอัลบั้ม ภายหลังถูกนำไปร้องคัฟเวอร์ ได้รับการขนานนามว่าเป็นหนึ่งในผลงานโด่งดังซึ่งเป็นมรดกตกทอดของเติ้งลี่จวิน!
ราชินีเพลงอย่างเฟย์ หว่องเองก็คัฟเวอร์เพลงนี้เช่นกัน
เพราะอิทธิพลของเฟย์ หว่อง ทำให้หลายคนถึงขั้นไม่รู้ว่าอันที่จริงต้นฉบับของเพลงนี้มาจากเติ้งลี่จวิน และคิดว่าเพลงนี้เป็นของเฟย์ หว่อง
ในความจริงแล้วเติ้งลี่จวินคือต้นฉบับ ในจุดนี้สำคัญอย่างยิ่งยวด และควรเน้นย้ำหลายครั้ง
เฟย์ หว่องเองก็เป็นแฟนคลับของเติ้งลี่จวิน
มีครั้งหนึ่งเฟย์ หว่องร้องเพลงในคอนเสิร์ตรำลึกถึงเติ้งลี่จวิน เมื่อเสียงดนตรีดังขึ้น หน้าจอภาพขนาดใหญ่ฉายภาพของเติ้งลี่จวินครั้งยังมีชีวิตอยู่ จู่ๆ เฟย์ หว่องซึ่งหันหลังให้หน้าจอ ก็หันกลับมามองเติ้งลี่จวินด้วยความเคารพ มือทั้งสองข้างถือไมโครโฟน ท่วงท่าถ่อมตนราวกับนักเรียนคนหนึ่ง
ไม่มีใครเคยเห็นเฟย์ หว่องมีท่าทางเช่นนี้มาก่อน
หลายคนอาจถามว่าทำไมเวอร์ชันของเฟย์ หว่องถึงโด่งดังกว่า
ณ ที่นี้ไม่จำเป็นต้องยกเรื่องการจากไปตั้งแต่เยาว์วัยของเติ้งลี่จวินมาอธิบาย
หลายคนคงเคยได้ฟังเพลง ‘ไม่อยากโตเป็นผู้ใหญ่’ ของวง S.H.E.[3]
แต่น้อยคนนักจะรู้ว่า เพลงนี้ใช้ซิมโฟนีหมายเลข 40 ของโมสาร์ตซึ่งเป็นที่รู้จักมากที่สุด มาเป็นทำนองในท่อนคอรัส
อย่างไรก็ดี ด้วยฝีมือระดับเฟย์ หว่อง เวอร์ชันที่เธอร้องนั้นยอดเยี่ยมมากเช่นกัน กอปรกับทำนองเพลงก็สร้างสรรค์ได้อย่างเปี่ยมคุณภาพ ดังนั้นระบบจึงไม่เพียงมอบเวอร์ชันของเติ้งลี่จวินมาให้ แต่ระบบยังผลิตเวอร์ชันของเฟย์ หว่องและเวอร์ชันอื่นๆ มาให้เช่นกัน
นอกจากนั้น…
สำหรับเพลงนี้ อันที่จริงโลกภายนอกเองก็มีการถกเถียงกันเรื่องหนึ่ง มีคนคิดว่า ทำนองของเพลงนี้ไม่ค่อยเข้ากับเนื้อร้อง
ความคิดเห็น
ความคิดเห็นของผู้อ่านเกี่ยวกับนิยาย: Full-time Artist ใครว่าผมไม่เหมาะเป็นศิลปิน