เซียนอมตะ 2,500 ปี [我只有两千五百岁] นิยาย บท 120

บทที่ 120 รีบเสนอตัวเพราะเห็นคนหล่อสินะ

“ดีเลยครับ”

ซูเย่พยักหน้า

หลี่เคอหมิงอธิบายในขณะที่พวกเขาเดินกลับไปยังห้องตรวจโรค

“การรมยาจะช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ทำให้เลือดลมไหลเวียนสะดวกมากขึ้น ระบบการเผาผลาญทำงานดีขึ้น เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ทำงานมากขึ้น และช่วยให้ร่างกายสามารถต่อสู้กับโรคต่าง ๆ ได้ดีขึ้น”

หลังจากนั้นผู้เป็นอาจารย์ก็ถามออกมาด้วยความสงสัย “ในตำราโบราณก็เคยมีการกล่าวถึงวิธีการรักษาแบบรมยาอยู่พอสมควร เธอเคยอ่านบ้างไหม?”

“เคยอ่านและจำได้หมดแล้วครับ”

ซูเย่พยักหน้าตอบ “ในตำราจ้วงซื่อได้กล่าวไว้ว่า หากวิธีการฝังเข็มใช้ไม่ได้ผล ก็เหมาะสมสำหรับการรักษาด้วยวิธีรมยา ส่วนในตำราเมิ้งซื่อก็ได้กล่าวว่า ในโรคเจ็ดชนิดจะสามารถรักษาหายได้ด้วยการรมยาถึงสามชนิด”

เมื่อได้ยินคำตอบ

หลี่เคอหมิงก็จ้องมองชายหนุ่มด้วยความเหลือเชื่อ

ดูเหมือนว่านอกจากตำราแพทย์แล้ว ซูเย่ยังอ่านหนังสือนอกเวลาอีกไม่น้อยทีเดียว

อาจารย์อาวุโสกล่าวต่อไป

“ถึงการฝังเข็ม และการรมยาจะถูกใช้เพื่อกระตุ้นจุดลมปราณในร่างกายสำหรับการรักษาโรคต่าง ๆ เหมือนกัน แต่วิธีการรักษาของศาสตร์สองแขนงนี้มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง”

“ในขณะที่การฝังเข็มจะเป็นการกระตุ้นร่างกายด้วยอุปกรณ์ภายนอก แต่การรมยานั้น จะหมายถึงการนำตัวยาสมุนไพรเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งสรรพคุณสำหรับตัวยาเหล่านี้สามารถช่วยบรรเทาความเจ็บปวด ลดอาการป่วยเรื้อรัง เพิ่มสมดุลในร่างกาย ช่วยทำให้จุดลมปราณในร่างกายของคนเรามีความอบอุ่นมากขึ้น”

“การรมยาสามารถแบ่งออกได้เป็นสองประเภท ประเภทแรกคือการรมยาโดยตรงร่วมกับการฝังเข็ม โดยจะให้ฤทธิ์ของสมุนไพรนั้นไหลผ่านตัวเข็มเข้าสู่ร่างกาย…”

“อีกประเภทหนึ่งนั้นเรียกว่าการรมยาทางอ้อม หมายถึงการนำแผ่นวางสมุนไพรไปติดไว้ตามจุดลมปราณของร่างกาย เมื่อจุดไฟแล้วก็จะทำให้สมุนไพรเหล่านั้นค่อย ๆ ระเหยในอากาศ โดยทั่วไปแล้วสิ่งที่จะใช้ในการรมยาแบบทางอ้อมมักจะประกอบไปด้วยสมุนไพรจำนวนมาก เรื่อยไปจนถึงขิง กระเทียม เกลือ และดอกไม้อบแห้งชนิดต่าง ๆ เป็นต้น…”

หลี่เคอหมิงชะลอความเร็วฝีเท้าลงเล็กน้อย เพื่อให้สามารถอธิบายข้อมูลได้อย่างละเอียดครบถ้วน

ต่อจากนั้นเขาก็อธิบายถึงการเลือกจุดลมปราณ จุดที่เหมาะสมสำหรับการรมยา ข้อควรระวังก่อนการรมยา แม้แต่รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ คุณหมออาวุโสก็ไม่พลาดแม้แต่เรื่องเดียว

ซูเย่รับฟังอย่างตั้งใจ ในราชวังแห่งความทรงจำของเขา ตำราโบราณหลายเล่มปรากฏขึ้นในอากาศ และหน้ากระดาษก็เริ่มพลิกกลับเพื่อเทียบข้อมูลกับสิ่งที่หลี่เคอหมิงพูดออกมา

เมื่อเดินกลับมาถึงห้องตรวจโรคของแผนกแพทย์แผนจีน ผู้เป็นอาจารย์ก็อธิบายจบพอดี

“ที่ฉันได้อธิบายมาทั้งหมดนี้ก็คือข้อมูลพื้นฐานของการรมยา แต่การลงมือปฏิบัติจริงนั้นแตกต่างจากการเรียนทฤษฎีอยู่พอสมควร ถ้ามีคนไข้ต้องเข้ารับการรมยาเมื่อไหร่ ฉันจะสาธิตให้เธอดูก็แล้วกัน ความจริงมันอาจฟังดูเหมือนง่ายกว่าการฝังเข็ม แต่ก็จำเป็นต้องใช้ความรู้ทางแพทย์แผนจีนระดับสูงทีเดียว”

หลี่เคอหมิงว่า

ซูเย่พยักหน้าพร้อมกับย่อยข้อมูลทั้งหมดเข้าสมอง

หลังจากตรวจคนไข้อีกห้าคนเรียบร้อย คนไข้รายต่อมาก็เป็นหญิงสาวอายุ 20 กว่าปีผู้หนึ่ง

“เป็นอะไรมาครับ?”

ซูเย่สอบถาม

“ปวดท้องค่ะหมอ” หญิงสาวตอบด้วยอาการเขินอาย

“ปวดท้องประจำเดือนใช่ไหมครับ?”

ซูเย่ถามอย่างตรงไปตรงมา

“ใช่แล้วค่ะ”

“เป็นมานานแค่ไหนแล้วครับ?”

“เป็นมาได้สองปีแล้วค่ะ ฉันจะรู้สึกปวดท้องทุกครั้งที่มีประจำเดือน โดยเฉพาะวันแรกกับวันที่สองของรอบเดือน บางครั้งเจ็บปวดแทบทนไม่ไหวเลยค่ะคุณหมอ ยิ่งวันไหนอากาศหนาววันนั้นก็ยิ่งปวดทรมานมากกว่าเดิม แต่เทียบไม่ได้เลยกับตอนที่อากาศร้อน”

“แล้ววันนี้ปวดเป็นพิเศษไหมครับ?”

“วันนี้เป็นวันที่สองของรอบเดือนพอดีเลยค่ะ แถมเมื่อคืนฉันบังเอิญไม่สบายด้วย ตอนนี้เลยรู้สึกเจ็บปวดแทบทนไม่ไหวแล้วค่ะ”

“นอกจากปวดท้องตอนมีประจำเดือน แล้วยังมีอาการอะไรอีกไหมครับ?”

ซูเย่ใช้สายตาสำรวจตรวจสอบคนไข้อย่างรวดเร็ว เขาพบว่าเธอมีใบหน้าซีดขาว จิตใจอ่อนล้า นั่งหลังงอ เอามือประสานไว้ที่หน้าท้องตลอดเวลา

“รู้สึกปวดหลัง กับเหมือนจะมีไข้อ่อน ๆ ด้วยค่ะ”

ซูเย่ตรวจอาการเพิ่มเติมต่อไป

เมื่อตรวจดูสภาพลิ้น ก็พบว่าคนไข้มีลิ้นเป็นสีซีด และมีฝ้าขาวเกาะตัวอยู่เล็กน้อย

ชีพจรเต้นลึกและบาง

สามารถวินิจฉัยได้ว่า : อาการปวดท้องเวลามีประจําเดือนของคนไข้ เกิดขึ้นจากการที่อวัยวะภายในอย่างเช่นตับ และไตสูญเสียความร้อนจนขาดสมดุล เพราะมีความเย็นมากเกินไป

ความคิดเห็น

ความคิดเห็นของผู้อ่านเกี่ยวกับนิยาย: เซียนอมตะ 2,500 ปี [我只有两千五百岁]