Full-time Artist ใครว่าผมไม่เหมาะเป็นศิลปิน นิยาย บท 414

ตอนที่ 414 ใครๆ ก็รู้จัก

“แม่คะหนูอยากเป็นเจ้าหญิงสโนว์ไวท์!”

“พ่อฮะ ซื้อเจ้าหญิงสโนว์ไวท์ให้หน่อย วันนี้หวาหวาเล่าเรื่องเจ้าหญิงสโนว์ไวท์ให้เพื่อนๆ ฟังในชั้นเรียน ลี่ลี่ก็เลยแบ่งขนมล่าเถียวให้หวาหวากินด้วย ผมยังไม่เคยกินขนมล่าเถียวของลี่ลี่เลย”

“แม่คะเรามาเล่นแสดงละครกันเถอะ”

“แม่รับบทเป็นราชินี หนูเป็นเจ้าหญิงสโนว์ไวท์ ไปแต่งหน้าเร็วค่ะ แล้วถามกระจกของตัวเองว่า กระจกวิเศษบอกข้าเถิด ใครงามเลิศในปฐพี!”

“แม่ไม่รู้จักเจ้าหญิงสโนว์ไวท์เหรอคะ”

“วันนี้หงหงให้พวกเราเล่นกัน หงหงเป็นเจ้าหญิงสโนว์ไวท์ หนูเป็นราชินี ราชินีเป็นคนไม่ดี แถมยังกินแอปเปิลที่หนูเอาไปโรงเรียนด้วย กินเสร็จยังบอกว่าแอปเปิลของหนูมีพิษ ฮือๆๆๆๆๆๆๆๆ”

“…”

หลังจากที่ผู้ใหญ่ชมภาพยนตร์หรืออ่านนิยายที่น่าสนใจแล้ว ก็จะแบ่งปันและพูดคุยกัน ส่งผลให้เกิดกระแสของผลงานดังกล่าวเพิ่มขึ้นในระดับหนึ่ง

เหตุการณ์คล้ายกันก็เกิดขึ้นในหมู่เด็กๆ

โลกของเด็กถึงแม้จะเรียบง่าย แต่พวกเขาก็จะแบ่งปันเรื่องราวที่ตนชื่นชอบเช่นกัน ทำให้นิทานเรื่องโปรดของทุกคนถูกเผยแพร่ไปในรูปแบบต่างๆ

และผู้ที่จะตอบสนองต่อคำเรียกร้องของเด็กๆ ก็คือบรรดาผู้ปกครอง

เพราะฉะนั้นยามที่วันที่สองมาถึง คงเป็นเรื่องยากที่ผู้ปกครองอีกจำนวนหนึ่งจะไม่รู้จักเจ้าหญิงสโนว์ไวท์ เพราะในช่วงบ่ายหลังเลิกเรียน เด็กหลายคนก็ไปงอแงกับผู้ปกครองของตน

ลูกคือดวงใจของครอบครัว

ผู้ปกครองทำได้เพียงไปสอบถามความคืบหน้าจากแม่คนอื่นๆ บางครั้งก็เข้าอินเทอร์เน็ตและเสิร์ชหาเรื่องเจ้าหญิงสโนว์ไวท์ และรู้ว่าเป็นนิทานเด็กเรื่องหนึ่งจากนิตยสารประเภทนิทาน…

ในขณะนั้นเหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่วันก็จะถึงเทศกาลฤดูใบไม้ผลิ โรงเรียนเริ่มทยอยกันปิดภาคเรียนฤดูหนาว

ในเวลาเช่นนี้ ถ้าหากลูกๆ ขอซื้อหนังสือนิทานสักเล่ม ผู้ปกครองไม่มีทางปฏิเสธ

และบนโลกออนไลน์

มีอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังคนหนึ่งเอ่ยถึงนิทานเรื่องนี้

“ผมเป็นน้าคนแล้วครับ ก่อนกลับบ้านไปฉลองเทศกาลฤดูใบไม้ผลิก็มักจะโทรไปถามหลานว่าอยากได้ของขวัญอะไร เดิมทีคิดไว้แล้วว่าคงจะต้องซื้อของเล่น ปรากฏว่าหลานชายอยากซื้อเจ้าหญิงสโนว์ไวท์อะไรสักอย่าง เจ้าเด็กคนนี้ปกติแล้วจะชอบให้ผมซื้อเครื่องบินเอย ปืนใหญ่เอย (ที่เป็นของเล่น) นึกไม่ถึงเลยว่าปีนี้จะเอาใจได้ง่ายๆ ด้วยนิทาน”

อินฟลูเอนเซอร์คนนี้โพสต์อวด ‘ราชานิทาน’

ในพื้นที่แสดงความคิดเห็นมีคอมเมนต์มากมาย

‘ฮ่าๆ น้องสาวของผมที่เรียนประถมก็ให้ผมซื้อให้เหมือนกัน’

‘โอ้ ฉันก็ว่าลูกสาวฉันพูดอะไรเจ้าหญิงสโนว์ไวท์ๆ ตลอดช่วงกลางวัน ที่แท้ก็เป็นนิทานที่เพิ่งปล่อยออกมาใหม่นี่เอง’

‘ก่อนหน้านี้ไม่เคยได้ยินชื่อราชานิทานเลย ตอนเด็กๆ ฉันฟังแต่เจ้าเต่าน้อย หลังจากนั้นก็พวกลูกหมูสามตัว’

‘เจ้าหญิงสโนว์ไวท์ดังแล้ว วันนี้จะไปซื้อนิตยสาร แต่สินค้าหมด!’

‘ไม่ใช่ร้านหนังสือแถวบ้านผมสินค้าหมดแค่ที่เดียวหรอกเหรอเนี่ย’

‘เดี๋ยวนะ นักเขียนเรื่องเจ้าหญิงสโนว์ไวท์นี่คือฉู่ขวง?’

‘หมายถึงเจ้าแก่ฉู่ขวงที่พวกเราคุ้นเคยน่ะหรือ?’

‘เห็นที่คลังหนังสือซิลเวอร์บลูโปรโมต เหมือนว่าจะใช่นะ ฉู่ขวงเขียนนิทานด้วย!’

‘ไม่กี่วันก่อนหน้านี้เห็นข่าวแล้ว แต่ไม่ได้สนใจอะไร นึกไม่ถึงว่านิทานเรื่องนี้ของฉู่ขวงจะดังขนาดนี้’

‘ฉู่ขวงไม่ใช่นักเขียนนิยายสืบสวนสอบสวนหรอกหรือ?’

‘ฉู่ขวงไม่ใช่นักเขียนนิยายแฟนตาซีหรอกหรือ?’

‘ฉู่ขวงไม่ใช่นักเขียนเรื่องสั้นหรอกหรือ?’

‘ตอนนี้ฉู่ขวงนับว่าเป็นนักเขียนนิทานเด็กอีก?’

‘…’

แรกเริ่มเดิมทีเป็นเพียงกระแสลมระลอกหนึ่ง

แต่หลังจากเมื่อร้านหนังสือเผชิญกับนิตยสารราชานิทานขาดสินค้าชั่วคราว

บนโลกออนไลน์ก็สนใจประเด็นสนทนาและถกเถียงเกี่ยวกับฉู่ขวงมากขึ้น

กระแสลมระลอกนี้ก็เริ่มส่งเสียงหวีดหวิว!

นิทานเรื่องเล็กๆ อย่างเจ้าหญิงสโนว์ไวท์โด่งดังแล้ว!

เหมือนว่าเราไม่ควรพูดว่าเจ้าหญิงสโนว์ไวท์เป็นนิทานเรื่องเล็กๆ

เพราะนี่เป็นถึงหนึ่งในผลงานเด่นจากเทพนิยายกริมม์[1]เชียวนะ

และเทพนิยายกริมม์ ก็ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นผลงานนิทานซึ่งเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก และองค์กรยูเนสโกก็ได้ขนานนามว่าเป็น ‘ผลงานรวมเล่มซึ่งบุกเบิกยุคสมัยใหม่ของนิทานยุโรปและตะวันออก’

ถึงขั้นที่มีสำนักพิมพ์บางแห่งกล่าวว่าในประเทศซึ่งนับถือคริสตศาสนา เทพนิยายกริมม์มียอดขายเป็นรองเพียงคัมภีร์ไบเบิลเท่านั้น

คำกล่าวนี้ไม่มีหลักฐานพิสูจน์ว่าจริงหรือเท็จ ถึงอย่างไรผลงานใดซึ่งมีการจดบันทึกยอดขาย ก็มักจะถูกนำไปเปรียบเทียบกับคัมภีร์ไบเบิลเสมอ

คัมภีร์ไบเบิลจึงกลายเป็นหน่วยวัดยอดขายหนังสือไปโดยปริยาย

อย่างไรก็ตาม มีบางสิ่งที่ระบุได้แน่ชัด ตัวอย่างเช่น นิทานซึ่งได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางมานับร้อยปีเช่นนี้ เรียกได้ว่ารู้จักกันทั่วบ้านทั่วเมือง

ความคิดเห็น

ความคิดเห็นของผู้อ่านเกี่ยวกับนิยาย: Full-time Artist ใครว่าผมไม่เหมาะเป็นศิลปิน